“การค้ามนุษย์” หมายถึง
การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่นใด ด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวงด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือด้วยการใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้ามนุษย์โดยมิชอบ หรือมีการให้ หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจ ควบคุมบุคคลอื่นเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์ การแสวงประโยชน์อย่างน้อยที่สุด ให้รวมถึงการแสวงหา ประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่นหรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการการเอาคนลงเป็นทาสหรือการกระทำอื่นเสมือนการเอาคนลงเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับ หรือการตัดอวัยวะออกากร่างกาย
Trafficking in Person Report : TIP REPORT คือ
รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นรายงานประจำปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำตามกฎหมาย Trafficking Victims Protection Act of 2000 (TVPA) เพื่อเสนอต่อสภาสหรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายงานฯ จะครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นประเทศต้นทาง ประเทศปลายทาง ประเทศทางผ่าน สำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ในรูปแบบที่ร้ายแรงจำนวนมาก เนื่องจากการค้ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปทุกประเทศในโลก รายงานเกี่ยวกับประเทศต่างๆ เป็นการบรรยายถึงขอบเขตและลักษณะของปัญหาการค้ามนุษย์ เหตุผลในการรวมประเทศดังกล่าวไว้ในรายงาน และความพยายามของรัฐบาลนั้น ๆ ในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์
รายงานยังรวมถึงการประเมินผลว่าความพยายามในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ของรัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำในการขจัดการค้ามนุษย์ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย TVPA ตามที่ได้มีการแก้ไขแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ รายงานยังรวมข้อเสนอแนะในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อต่อสู้กับการค้ามนุษย์ รายงานส่วนที่เหลือจะอธิบายถึงความพยายามของรัฐบาลแต่ละประเทศในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ คุ้มครองผู้ตกเป็นเหยื่อ และป้องกันการค้ามนุษย์ รายงานของแต่ละประเทศจะอธิบายพื้นฐานในการจัดให้ประเทศอยู่ในระดับ 1, ระดับ 2, ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง, หรือระดับ 3 ถ้าประเทศใดถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง รายงานจะอธิบายว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นโดยใช้คำอธิบายซึ่งมีอยู่ในกฎหมาย TVPA ตามที่ได้มีการแก้ไขแล้ว
ความหมายของการจัดระดับ : Tier 1, Tier 2, Tier 2 Watch list, Tier 3
ระดับ 1 (Tier 1) : ประเทศซึ่งรัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์ ระดับ 2 (Tier 2) : ประเทศซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตาม มาตรฐานเหล่านั้น ระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง (Tier 2 Watch list) : ประเทศที่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย TVPA โดยสมบูรณ์แต่กำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานเหล่านั้น และ ก) จำนวนสุทธิของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์มีจำนวนมาก หรือกำลังเพิ่มขึ้นมาก หรือ ข) ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่ามีความพยายามเพิ่มขึ้นที่จะต่อสู้กับรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์จากปีที่ผ่านมา หรือ ค) การตัดสินว่าประเทศนั้นกำลังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะปฏิบัติให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำมาจากการให้คำมั่นสัญญาของประเทศนั้นว่าจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมในปีถัดมา ระดับ 3 (Tier 3 ) : ประเทศต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายาม อย่างมีนัยสำคัญที่จะดำเนินการดังกล่าว
กระบวนวิธี
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากสถานทูตสหรัฐฯ ในประเทศต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศ รายงานที่มีการตีพิมพ์ การเดินทางไปวิจัยในทุกภูมิภาค และข้อมูลที่มีผู้ส่งมาที่ tipreport@state.gov ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ได้จัดทำขึ้นสำหรับองค์กรเอกชนและบุคคลทั่วไปเพื่อแลก เปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์ เจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์และปฏิบัติการของรัฐบาลโดย อาศัยการวิจัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมไปถึงการพบปะกับข้าราชการจากหน่วยงานต่าง ๆ ผู้แทนองค์กรเอกชนในประเทศและระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ข้าราชการ นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ และผู้ตกเป็นเหยื่อที่รอดมา ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับรายงานประจำปีนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแหล่งข้อมูลของทุกๆ ประเทศด้วยมุมมองใหม่ในการประเมินผล
การประเมินความพยายามในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของรัฐบาลแต่ละประเทศแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 จำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อที่มีนัยสำคัญ ในขั้นแรก กระทรวงการต่างประเทศกำหนดว่าประเทศนั้นเป็น “ประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน หรือประเทศปลายทาง สำหรับจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อของรูปแบบที่รุนแรงของการค้ามนุษย์ในจำนวนที่มีนัยสำคัญ” โดยยึดหลักทั่ว ๆ ไปว่ามีจำนวนผู้ตกเป็นเหยื่อ 100 คนหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ใช้ในรายงานฉบับก่อนๆ หน้านี้ ในประเทศซึ่งไม่มีข้อมูลดังกล่าว ประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่มต่างๆ แต่จะนำมารวมไว้ในส่วนที่เรียกว่ากรณีพิเศษ (Special Case Section) เมื่อประเทศเหล่านี้มีข้อบ่งชี้ว่ามีการค้ามนุษย์
ขั้นที่สอง การจัดกลุ่ม กระทรวงการต่างประเทศจัดให้แต่ละประเทศที่อยู่ในรายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2549 อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในจำนวนทั้งหมดสี่กลุ่ม ซึ่งในรายงานฉบับนี้เรียกว่าระดับ ตามที่ได้รับมอบอำนาจโดยกฎหมาย TVPA การจัดกลุ่มพิจารณาจากระดับของการดำเนินการของรัฐบาลในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์มากกว่าที่จะดูที่ขนาดของปัญหา แม้ว่าเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญก็ตาม ในขั้นต้น กระทรวงการต่างประเทศจะประเมินผลว่ารัฐบาลปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย TVPA ในการที่จะขจัดการค้ามนุษย์โดยสมบูรณ์หรือไม่ รัฐบาลที่ดำเนินการดังกล่าวได้สมบูรณ์จะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 1 สำหรับรัฐบาลซึ่งกำลังใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำจะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 รัฐบาลซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ โดยสมบูรณ์และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญในการที่จะดำเนินการดังกล่าวจะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 3 และท้ายที่สุดจะนำเกณฑ์สำหรับบัญชีประเทศที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ (Special Watch List) มาพิจารณาและถ้าลักษณะตรงกับที่ระบุไว้ในเกณฑ์ประเทศที่อยู่ในระดับ 2 ก็จะถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ที่ถูกจับตามอง
บทลงโทษที่อาจนำไปใช้กับประเทศที่อยู่ในระดับ 3
รัฐบาลของประเทศในระดับ 3 อาจถูกมาตรการลงโทษบางอย่าง รัฐบาลสหรัฐฯ อาจระงับความช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่ด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า ประเทศซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือดังกล่าวจะถูกปฏิเสธหรือระงับเงินสำหรับการเข้าร่วมในโครงการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย TVPA รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะต้องเผชิญกับการคัดค้านจากสหรัฐฯ ในเรื่องของความช่วยเหลือ (ยกเว้นความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า และความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบางอย่าง) จากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เป็นต้น