ก.แรงงาน กำหนดแผนยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวง เน้นทำงานเชิงรุก แนวประชารัฐ
ก.แรงงาน ประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (พ.ศ.2560-2564) ครั้งที่ 1/2560 เน้นการทำงานในรูปแบบประชารัฐบูรณาการในการทำงานร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายพัฒนาแรงงานไทยสู่ประเทศไทย 4.0
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัด กระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (พ.ศ.2560-2564) ครั้งที่ 1/2560 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน วันนี้ (18 เม.ย. 60) โดยรองปลัดฯ กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์มีความสำคัญต่อทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน เพราะเป็นเครื่องมือชี้นำกำหนดทิศทางขององค์กรและเชื่อมโยงภารกิจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัด ตลอดจนการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยการบูรณาการในการทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งสถานการณ์และการพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นความ ท้าทายอย่างมากของประเทศไทยและกระทรวงแรงงาน เช่น การพัฒนาประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 กับความหวังที่ประเทศไทยจะต้องก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งความท้าทายจากภายนอกประเทศ อาทิเช่น วาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN) ที่ประเทศสมาชิกต้องดำเนินการให้บรรลุ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้วในปี 2558 เป็นต้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม
สำหรับปัจจัยภายในสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งองค์กรที่เชื่อมโยงกัน การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ การปรับโครงสร้าง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การทำงานด้วยความโปร่งใส (Zero-corruption) และการให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ นอกจากสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจะได้ร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (พ.ศ. 2560-2564) แล้ว ยังจะต้องบูรณาแผนงานร่วมกัน ในฐานะหน่วยงาน ที่รับผิดชอบงานด้านนโยบายและอำนวยการ ซึ่งจะเป็นทิศทางการทำงานที่มีความชัดเจน ครบถ้วน ครอบคลุมในทุกประเด็น สามารถนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานตามภารกิจความรับผิดชอบของหน่วยงานได้อย่างสมบูรณ์ ตลอดจนการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในมิติต่างๆ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียและผู้รับบริการจากกระทรวงแรงงาน โดยต้องเป็นการทำงานเชิงรุกที่สามารถ นำนโยบายของรัฐบาล และทิศทาง การพัฒนาของประเทศไทยมาสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สื่อสารไปยังหน่วยงานในสังกัดได้อย่างชัดเจน