กระทรวงแรงงาน จัดชุดตรวจเฉพาะกิจ 316 นาย ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการจากหลายหน่วย ตั้งเป้าตรวจในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล กรุงเทพฯ ปทุมธานี และราชบุรี รวม 145 แห่ง ‘รุกแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์’ ตามนโยบายวาระแห่งชาติ เน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น เอาจริงลงโทษผู้ทำผิด จัดอบรมให้มีความรู้ด้านค้ามนุษย์ตามคำแนะนำ ILO ป้องประเทศสูญรายได้ 2.5 แสนล้าน พร้อมเปิด “สถานีแรงงาน” ช่อง 11 NBT ทุกวันอังคาร เวลา 13.05 – 13.55 น. เป็นช่องทางสื่อสารการแก้ปัญหาด้านแรงงาน
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมกระทรวงแรงงาน ครั้งที่ 9/2558 ว่า กระทรวงแรงงานได้จัดชุดปฏิบัติการตรวจแรงงานเฉพาะกิจ 316 นาย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)และกระทรวงแรงงาน ในแต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่ 6-7 นาย ทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ เน้นการตรวจการใช้แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ตั้งเป้าตรวจในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 22จังหวัดชายฝั่งทะเล กรุงเทพฯ ปทุมธานี และราชบุรี รวม 145 แห่ง ตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของทุกหน่วยงานอย่างเข้มข้น ย้ำเอาจริงลงโทษผู้ทำผิด อาทิ กรณีพบการใช้แรงงานเด็กให้ดำเนินคดีทันที เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing; IUU) ซึ่งอาจกระทบต่อประเทศไทยที่ส่งออกสินค้าแปรรูปสัตว์น้ำซึ่งมีมูลค่ากว่า2.5 แสนล้านบาท และเป็นการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ตามนโยบายวาระแห่งชาติของรัฐบาล
สำหรับชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจนี้ จะได้รับการอบรมตามหลักสูตรที่ ILO ให้คำแนะนำ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานมีความรู้สามารถคัดกรองว่าการใช้แรงงานเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งกำหนดจัดอบรม จำนวน 3 รุ่น และเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะได้การรับรองจาก พม. ให้เป็นพนักงานตรวจการค้ามนุษย์ได้ด้วย รวมทั้ง พม. ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการจัดอบรมดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่แล้ว ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามผลและมีระบบการรายงานการดำเนินอย่างเป็นเอกภาพ รวมทั้งระดับจังหวัดได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด(ยุทธศาสตร์จังหวัด) โดยมีแรงงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบการบูรณาการ ภายใต้แผนปฏิบัติการที่กระทรวงได้กำหนด และให้ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
พร้อมนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิด “สถานีแรงงาน” เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารด้านแรงงาน เป็นรายการสดออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11 NBT) ทุกวันอังคาร เวลา 13.05 – 13.55 น. โดยได้จัดเจ้าหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ตอบข้อสงสัยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ชมรายการทางบ้านด้วย