ก.แรงงาน ชี้ ผลการป้องกันการค้ามนุษย์คืบหน้า ตั้งเป้าในปี 60 ปลดล็อคเหลือเทียร์ 2 “รองโฆษกแรงงาน” เผย การป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์มีความคืบหน้าไปมาก ตั้งเป้าในปี 2560 ลดอันดับมาอยู่ Tier 2 ย้ำนโยบาย “รัฐมนตรีแรงงาน”บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ต่อต้านคอร์รัปชั่น ดูแลสิทธิแรงงานตามหลักสากล เพิ่มพนง.ตรวจให้ครบ 1,500 อัตรา พร้อมร่วมมือทุกหน่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นางเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอผลสำรวจซึ่งระบุว่าปัญหาการค้ามนุษย์แย่ลงนั้น สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องนี้ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนได้รับการปรับระดับจาก Tier 3 มาเป็น Tier 2 Watch List ในปีที่ผ่านมา และได้มีการกำหนดมาตรการในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิของแรงงานในประเทศไทยทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นแรงงานสัญชาติใด และได้มุ่งเน้นการควบคุมและตรวจตราอย่างเข้มงวด ผ่านกระบวนการตรวจแรงงาน ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการตรวจแรงงานให้ครอบคลุมสถานประกอบกิจการทุกขนาด และทุกประเภทกิจการทั่วประเทศ โดยจัดลำดับความสำคัญการตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นลำดับแรก รวมทั้งจัดวางระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งได้มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ผ่านความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคีภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ ตลอดจน NGOs ที่เกี่ยวข้อง โดยยึดแนวทางตามกรอบนโยบายในรูปแบบ 5P ได้แก่ 1) นโยบาย (Policy) 2)การคุ้มครอง (Protection)3) การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) 4) การป้องกัน (Prevention) และ 5) การมีส่วนร่วม (Partnership)
นางเพชรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานในอนาคต กระทรวงแรงงานยังคงมุ่งมั่นที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรภาคประชาสังคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ตั้งเป้าหมายให้ได้รับการจัดอันดับ ใน Tier 2 สำหรับนโยบายสำคัญของ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด (Zero Tolerance) การต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น (Zero Corruption)
การพิจารณาให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง การให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการร่วมตัวและเจรจาต่อรอง และการให้สัตยาบันพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของกระทรวงแรงงาน และประเทศไทยที่จะยกระดับการดูแลแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในหลักมนุษยธรรม และเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว จำนวน 10 แห่ง (สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา สมุทรปราการ ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ ตาก นครราชสีมา และขอนแก่น) เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงานและ NGOs เพื่อสร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้าถึงบริการและการดูแลจากภาครัฐมากขึ้น และได้อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวมาร่วมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ด้านการสื่อสาร เพื่อให้มีส่วนร่วมในการดูแลเพื่อนแรงงานต่างด้าวพร้อมไปกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนล่าม “กระทรวงแรงงานจะดำเนินการเพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงานให้ครบ 1,500 อัตรา ตามมาตรฐาน ILO เพื่อให้สามารถดูแลแรงงานให้ได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย และสามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติได้อย่างยั่งยืน” นางเพชรรัตน์ กล่าว
|