Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน ดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นมาตรฐานสากล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

pll_content_description

            กระทรวงแรงงาน บูรณาการทุกหน่วยงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ทั้งการตรวจสอบและควบคุมดูแลให้สถานประกอบการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีมาตรฐาน การจัดสรรดูแลด้านสวัสดิการ สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย การดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นมาตรฐานสากล และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์



Preview

Download Images

            นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดการสัมมนา “ตลาดการส่งออกและข้อปฏิบัติทางสังคม” (Export Markets and Social Compliance) กล่าวว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ แต่ด้วยภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย มีความจำเป็นต้องรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงต้องหาวิธีและมาตรการในการดำเนินการที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถรองรับการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นที่มาของการสร้างกฏเกณฑ์ และข้อปฏิบัติร่วมกันด้วยความตระหนักและความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อสร้างระบบหรือกระบวนการจ้างงานแรงงานต่างด้าวที่ปลอดภัย โปร่งใส มีจริยธรรม และให้ความสำคัญกับการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของลูกจ้าง

            ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความต้องการแรงงานต่างด้าวในสัดส่วนที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะประชากรวัยทำงานของประเทศไทยมีจำนวนลดลง ขณะที่ตัวเลขประชากรวัยสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงาน และมีความจำเป็นที่จะต้องรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน เพื่อรักษาไว้ซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอื่นๆ ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานต่างด้าวกว่า 3 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของแรงงานในธุรกิจอาหารแปรรูปและกิจการประมง ที่ถือเป็นฐานกำลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามที่จะพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักให้ความสำคัญกับการจ้างงานอย่างมีจริยธรรมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ล่าสุดได้ออกพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ทั้งระเบียบปฏิบัติในการเรียกเงินค่าบริการและค่าใช้จ่าย โดยนายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานต่างด้าว และห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าวไม่ว่ากรณีใดๆ ซึ่งเริ่มมีผลใช้บังคับไปแล้วในปีที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจของบริษัทจัดหางาน และนายจ้างที่นำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน อีกทั้งยังได้เพิ่มจำนวนพนักงานตรวจแรงงาน และผู้ประสานงานด้านภาษา รวมถึงเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายของแรงงานต่างด้าวในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้รับความช่วยเหลือ รับข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำ และการช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานทั้งที่เป็นแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยได้เพิ่มการตรวจเพื่อคุ้มครองแรงงานอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ แรงงานขัดหนี้ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พร้อมทั้งส่งเสริมสถานประกอบกิจการในการนำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานและได้ปรับปรุงกฎหมายรวมถึงกฎระเบียบอื่นๆ  ทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557  กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557  และกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงาน พ.ศ.2559 โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด หากมีการตรวจพบการกระทำผิดกฎหมายจะมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนทันที รวมทั้งการพิจารณาใช้กำหนดโทษสูงสุดต่อผู้กระทำผิด

            นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นในการทำงานแบบบูรณาการทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงปัญหาต่างๆ ด้านแรงงาน เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในทุกขั้นตอน โดยการตรวจสอบและควบคุมดูแลให้สถานประกอบการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีมาตรฐาน มีการจัดสรรดูแลด้านสวัสดิการ เพื่อให้พนักงานมีความมั่นคง มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ตลอดจนมีกระบวนการดูแลแรงงานต่างด้าวเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงแรงงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแผนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

            การทำความเข้าใจและการปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางสังคม จะทำให้เกิดการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งประเทศผู้ส่ง และประเทศผู้รับแรงงาน รวมถึงตัวแรงงาน และผู้ประกอบกิจการ ซึ่งประโยชน์สูงสุดที่ทุกฝ่ายต้องการ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ ความเห็นใจ ความรับผิดชอบ และความเคารพในกฎเกณฑ์ ระเบียบ กฎหมาย สิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมถึงการจัดหาแรงงานข้ามชาติที่โปร่งใส ปลอดภัย และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติและมาตรฐานสากล นายสิงหเดชฯ กล่าวท้ายสุด

####################

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

25 กุมภาพันธ์ 2560

กัณติภณ คูสมิทธิ์ ข่าว

TOP