Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน เดินหน้าขับเคลื่อน มาตรการแก้ “ค้ามนุษย์” เล็งขอจ้างล่ามแปลภาษาเพิ่ม พร้อมตรวจแรงงานถี่ขึ้น

pll_content_description

            ก.แรงงาน เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ‘ด้านแรงงงาน’ เล็งของบกองทุนค้ามนุษย์ ‘จ้างล่าม’ ช่วยสื่อสารต่างด้าว เร่งตรวจแรงงานถี่ขึ้น เพิ่มการชี้แจงนายจ้าง เข้ม!! อบรม “เจ้าหน้าที่คัดเลือกเหยื่อ” แนะใช้ต่างด้าวแบบ MOU ค่าใช้จ่ายถูกกว่าผ่านสายนายหน้า
 
            นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมทบทวนและกำหนดมาตรการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ว่า จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำ ค.ศ. 2015 (Trafficking in Persons – TIP Report) ที่มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเรื่องของการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานนั้น กระทรวงแรงงานได้ประชุมกับหน่วยงานในสังกัดพิจารณาความเกี่ยวข้องภารกิจของหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ที่ประชุมเสนอแนวทาง มาตรการ และกิจกรรมขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ทั้งนี้ ที่ประชุมมุ่งเน้นในเรื่องของล่ามแปลภาษาที่ยังขาดแคลนอยู่ เนื่องจากรายงานดังกล่าวมีข้อสังเกตว่าไทยมีปัญหาการขาดแคลนล่ามแปลภาษาเมียนมา ลาว และกัมพูชา ทำให้ไม่สามารถสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติได้ ซึ่งเห็นชอบให้เสนอของบประมาณจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในการจัดหาล่ามเพิ่มเติมเพื่อให้มีเพียงกับกับจำนวนแรงงานข้ามชาติในจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ โดยให้มีล่ามอย่างน้อยจังหวัดละ 1 – 2 คน ส่วนจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติหนาแน่น เช่น สมุทรสาคร อาจจะให้มีล่ามมากกว่านั้นได้
 
           “เนื่องจากงบประมาณต่างๆ ของกระทรวงแรงงานไม่เพียงพอมากนักในการจ้างล่ามแปลภาษาทำให้ไม่ได้สัดส่วนกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ที่ประชุมจึงเห็นชอบแก้ไขโดยจะเสนอของบประมาณจากกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในเรื่องของการจ้างล่ามเพื่อให้มีสัดส่วนที่สามารถทำงาน คุ้มครอง ดูแล และป้องกันการค้ามนุษย์ได้ การสร้างความเข้าใจและความตระหนักในเรื่องของปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์เป็นเรื่องสำคัญ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ นายจ้าง แรงงานต่างด้าว เพราะปัญหาสำคัญคือไม่มีล่ามในการที่จะไปชี้แจง” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
            นายอารักษ์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงแรงงานจะมุ่งเน้นในการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น แผ่นพับ คลิปวิดีโอสั้นทั้ง 3 ภาษา เพื่อกระจายออกไปให้แรงงานข้ามชาติเกิดความรู้ในวงขวางมากขึ้น ตามข้อแนะนำของ TIP Report ว่าควรรณรงค์ให้แรงงานข้ามชาติหรือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองและหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ สามารถติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมากขึ้น สามารถสื่อสารกันได้สะดวกมากขึ้น โดยจะเปิดคลิปสื่อประชาสัมพันธ์ตามหน่วยงานระดับจังหวัดของกระทรวงแรงงาน อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับนายจ้างด้วย
 
            รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการรายงานที่ระบุว่าการดำเนินคดีมีจำนวนน้อยนั้น ที่ประชุมเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบให้ความช่วยเหลือแรงงาน ส่วนใหญ่ไม่เข้าข่ายการกระทำผิดในกรณีการค้ามนุษย์ทำให้คดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานมีน้อย จากนี้ต่อไปจะต้องปรับการตรวจแรงงานให้มีความถี่และใช้ทีมสหวิชาชีพมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการชี้แจงกับนายจ้างมากขึ้นในเชิงป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเนื่องจากการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานซึ่งมีปัญหาขาดแคลนอยู่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งจะมีการปรับปรุงบันทึกรายละเอียดของการตรวจแรงงานโดยจะเจ้าหน้าที่บันทึกความผิดในกรณีต่างๆ ของนายจ้างไว้ด้วย แม้ไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ เช่น การยึดเก็บเอกสารประจำตัว หนังสือเดินทาง การค้างค่าจ้าง เพื่อให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น
 
            นอกจากนี้ การคัดเลือกเหยื่อจะต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่อย่างเข้มข้นมากขึ้น เพราะการคัดเลือกเหยื่อมีความสำคัญว่าเหยื่อคนนี้เป็นเหยื่อในเรื่องของการค้ามนุษย์ หรือว่าแค่ลักลอบเข้าเมือง หรือว่าถูกกระทำในเรื่องเป็นแรงงานบังคับถูกขู่เข็ญ ถือเป็นงานใหม่ที่เกิดขึ้น ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานหรือพนักงานของประกันสังคมจำเป็นต้องเรียนรู้เอาไว้ในประสบการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ได้เป็นอย่างดี
 
            “เป้าหมายของกระทรวงแรงงาน โดยพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คืออยากทำให้การนำเข้าแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารหนังสือเดินทาง (Passport) ที่ถูกต้อง เป็นเป้าหมายของกระทรวงแรงงาน ด้วยการนำเข้าตาม MOU บันทึกความเข้าใจตามข้อตกลง มากกว่าที่จะผ่านสายนายหน้าหรือบริษัทนายหน้าที่มีค่าใช้จ่ายสูง” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
TOP