Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน เดินหน้าจัดทำ “โรดแมป”กำหนดผู้รับผิดชอบ ระบุเวลาที่ชัดเจน เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ‘ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน’

pll_content_description

             ก.แรงงาน เดินหน้าจัดทำ “แผนปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน” (ROADMAP) ปีงบประมาณ 2559 พร้อมกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ – ระบุเวลาการทำงานที่ชัดเจน เน้นทำงานแบบบูรณาการ่วมทุกหน่วยงาน
 
            นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ศปกค.รง.) (Prevention of Human Trafficking on Labour Operation Center :PHTLOC) กล่าวว่า ตามที่พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีข้อสั่งการในที่ประชุมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 ให้กระทรวงแรงงานเร่งรัดการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และข้อเสนอแนะในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา จากกรณีที่สหรัฐ ฯ จัดลำดับไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่มีการค้ามนุษย์ระดับ (Tier 3) โดยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กระทรวงแรงงาน นั้น
 
            รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ควรมีการเร่งรัดจัดทำคำนิยาม “การค้ามนุษย์” “แรงงานบังคับ” “แรงงานขัดหนี้” รวมถึงการกำหนดมิติการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ TIP Report, IUU, แรงงานเด็ก โดยแต่ละทีมสามารถทำงานแทนกันหรือตอบคำถามแทนกันได้ และต้องมีการวางแผนแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด จัดทำแผนปฏิบัติงานตามทฤษฎีระบบให้สอดคล้องกับระบบการตรวจราชการ (ยุทธศาสตร์จังหวัด การบูรณาการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์)
 
           ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแผนปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ROADMAP) ปีงบประมาณ 2559 โดยได้มีการกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ พร้อมทั้งระบุเวลาการดำเนินการที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งการจัดทำแผนปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (ROADMAP) ปีงบประมาณ 2559 ของกระทรวงแรงงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน ไตรมาส 1 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2558) ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน จัดทำแผนการตรวจบูรณาการ จัดทำแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด ปรับปรุงคู่มือและแบบการตรวจบูรณาการ จัดทำร่าง TIP Report ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดตรวจสัญชาติ ควบคุมบริษัทจัดหางาน/สายนายหน้า จัดทำคำนิยามและแก้ไขปัญหาแรงงานขัดหนี้ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
 
           ระยะกลาง ไตรมาส 2 (เดือนมกราคม – มีนาคม 2559) ดำเนินการปรับปรุงร่าง TIP Report ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดตรวจสัญชาติ ควบคุมบริษัทจัดหางาน/สายนายหน้า จัดทำคำนิยามและแก้ไขปัญหาแรงงานขัดหนี้ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ และระยะยาว ไตรมาส 3 – 4 (เดือนเมษายน – กันยายน 2559) ดำเนินการควบคุมบริษัทจัดหางาน/สายนายหน้า จัดทำคำนิยามและแก้ไขปัญหาแรงงานขัดหนี้ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
 
           นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณา (ร่าง) นโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการ เรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน” เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานต่อไป
 
           สำหรับการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันฯ จะมีการประชุมและสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงานโดยให้แต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจัดส่งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมาปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ ทุกวันพฤหัสบดีเพื่อบูรณาการข้อมูล และสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทราบในทุกสัปดาห์ และมอบหมายให้ทุกกรม/สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานแรงงานจังหวัด จัดตั้งศูนย์ฯ ระดับกรมและระดับจังหวัด เพื่อปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับศูนย์ฯ ของกระทรวง รายงานสถานการณ์และความคืบหน้าในการดำเนินการให้ศูนย์ฯ ของกระทรวงทราบเป็นระยะ
TOP