กระทรวงแรงงาน เผย ครม.มีมติขยายระยะเวลาจดทะเบียนต่างด้าวในกิจการประมงทะเล และกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ออกไปอีก 6 เดือน ผลความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน พบเปิดจดทะเบียนในประมงทะเลครั้งที่สองน้อยลง ส่งสัญญาณไทยจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบจดทะเบียนได้ค่อนข้างครอบคลุม ยอดจดทะเบียนต่างด้าว เมียนมา ลาว กัมพูชา ยื่นต่อใบอนุญาตกว่าล้านคน ย้ำ มีการพัฒนากฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพิ่มประสิทธิภาพมีโครงการ/แผนงาน รองรับการดำเนินการอย่างชัดเจน ร่วมมือ ม.แม่ฟ้าหลวง ทำ MOU จัดให้มีล่ามภาษาอาเซียนผ่านระบบโซเชียลมีเดีย ช่วยต่างด้าวเข้าถึงสิทธิแรงงาน
กระทรวงแรงงานจัดแถลงผลความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยนายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และนายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวง ได้ร่วมกันแถลงผลการดำเนินการและความคืบหน้าที่สำคัญ และชี้แจงมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ก.พ.59 เรื่องการขยายระยะเวลาจดทะเบียนต่างด้าว ออกไปอีก 6 เดือน โดยในกิจการประมงทะเลสิ้นสุดเมื่อ 30 ม.ค.59 ให้ขยายการจดทะเบียนต่อไปได้ถึงวันที่ 31 ก.ค.59 สำหรับกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 22 ก.พ.59 นั้น ให้ขยายการจดทะเบียนได้จนถึงวันที่ 22 ส.ค.59
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน ได้เปิดเผย ยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.58 ตั้งแต่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.58 มีแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา มายื่นต่อใบอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 1,049,326 คน ส่วนการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล 22 จังหวัด ที่มีพื้นที่ติดทะเล ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 29 มิ.ย.58 มีจำนวน 54,402 คน และครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ย.58– 30 ม.ค.59 มีจำนวน 2๑,484 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงและน่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนอย่างครอบคลุมแล้ว
มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน คือ การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงทะเล และอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำเปลี่ยนนายจ้างได้ภายในกลุ่ม โดยไม่จำกัดจำนวนนายจ้าง และจังหวัดที่ทำงานได้ รวมทั้ง การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงสามารถทำงานในตำแหน่งช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงได้โดยต้องมีหนังสือรับรองการประกอบวิชาชีพช่างเครื่องยนต์จากกรมเจ้าท่าประกอบการยื่นขออนุญาตทำงานด้วย ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและแรงงานต่างด้าวที่นำเข้าตาม MOU สามารถดำเนินการได้ทันที
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้ามมิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงาน พ.ศ. 2559 ในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ ทำให้ประสบปัญหาไม่สามารถทำงานต่อไปกับนายจ้างรายเดิมได้ ให้สามารถเปลี่ยนไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ได้ ในกิจการที่อนุญาตให้ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปทำงานได้ทั้งในจังหวัดที่เคยได้รับอนุญาตทำงานหรือจังหวัดอื่นๆ และในปี 2559 ได้จัดทำโครงการ “เขตปลอดการจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย” โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีคนต่างด้าว นายจ้าง/สถานประกอบการและผู้เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้น โดยมีเครือข่ายในการเฝ้าระวังการลักลอบจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย หากพบการกระทำผิดตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานว่า ได้นำนโยบายรัฐบาลแก้ปัญหาค้ามนุษย์ซึ่งกำหนดเป็นวาระแห่งชาติมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม โดยได้พัฒนา ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ อาทิ ออกกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๕๗ กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.๒๕๕๗ และล่าสุดคือกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้าง ซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีทำงาน พ.ศ.๒๕๕๙ ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคมที่ผ่านมา เป็นต้น เมื่อมีกฎหมายแล้วก็ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตรวจเพื่อคุ้มครองแรงงาน ซึ่งมุ่งเน้นสถานประกอบกิจการที่เสี่ยงต่อการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กิจการประมงทะเล ผลิตอ้อย ก่อสร้าง กิจการแปรรูปเนื้อไก่ โรงแรม ท่องเที่ยว โดยตั้งแต่วันที่ ๑ ต.ค.๕๘ – ๒๘ ม.ค. ๕๙ ตรวจสถานประกอบกิจการไปแล้ว ๑๐,๗๗๔ แห่ง พบปฏิบัติไม่ถูกต้อง ๒,๐๖๙ แห่ง คิดเป็นร้อยละ ๑๙.๒๐ ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว ๓๙๘ คดี เป็นเงินค่าปรับรวม ๗๐๖,๐๗๗ บาท นอกจากนี้ยังได้บูรณาการร่วมกับชุดเฉพาะกิจ ศปมผ.ในการตรวจแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำและเรือประมงทะเลนอกน่านน้ำ มีการร่วมปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO และเพื่อให้การดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรณีการช่วยเหลือแรงงานประมงจากเกาะอัมบน มีแรงงานประมงเดินทางกลับถึงไทยแล้ว ๑,๔๑๔ คน สามารถเรียกร้องสิทธิประโยชน์ ให้ลูกเรือ ๔๕๐ คน เป็นเงิน ๒๔,๙๓๒,๒๑๘ บาท
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของแรงงานต่างด้าวรองรับประชาคมอาเซียน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวได้เข้าถึงสิทธิของตนมากยิ่งขึ้นโดยจัดทำวีดิทัศน์เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายเป็นภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา กัมพูชาและเวียดนาม จัดทำสื่อวีดิทัศน์เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับงานก่อสร้าง ๖ ภาษา คือ ภาษาไทย อังกฤษ เมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนาม และร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเพื่อจัดให้มีล่ามผ่านระบบโซเชียลมีเดีย ข่วยในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้สัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
—————————————
“OUR HOME OUR COUNTRY STRONGER TOGETHER”
“เราจะเติบโตและแข็งแกร่งไปด้วยกัน เพราะที่นี่คือ บ้านของเรา ประเทศไทยของเรา”
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/
พุทธชาติ อินทร์สวา-ข่าว/สุนิสา กล่ำฟอง-ภาพ