Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ก.แรงงาน ‘เผย’ ผลงานศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง

pll_content_description

ก.แรงงาน ประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงาน สาธารณสุข และความมั่นคง เพื่ออนุญาตทำงานให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาล พัฒนาศักยภาพแรงงาน พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบปัญหาเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 




Preview

Download Images

          พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานสาธารณสุข และความมั่นคง ครั้งที่ 2/2560 โดยประชุมหารือร่วมกับกระทรวง การต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน วันนี้ (7 มิ.ย.60) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินการตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2559 – พฤษภาคม 2560 โดยกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการ 1) อนุญาตให้แรงงานกัมพูชาเข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับหรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดสระแก้ว 19,916 คน ตราด 3,588 คน รวมทั้งสิ้น 23,504 คน 2) อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวทำงาน จังหวัดตาก 6,211 คน สระแก้ว 19,916 คน ตราด 4,429 คน มุกดาหาร 711 คน สงขลา 2,986 คน รวมทั้งสิ้น 34,253 คน และ 3) อยู่ระหว่างเตรียมการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำประกาศจังหวัดเชียงราย ตาก กาญจนบุรี และระนอง เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติในการจัดระบบการจ้างคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 ตามความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนไทย-เมียนมา
          ด้านกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้พัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส จำนวน 17,407 คน ประกอบด้วย แรงงานใหม่ 743 คน ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือตามความต้องการของตลาดแรงงาน รวมไปถึงการฝึกเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริง เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยผู้รับการฝึกได้ทำงาน  ร้อยละ 31.09 แรงงานในระบบ/สถานประกอบกิจการ 7,086 คน โดยจำแนกกลุ่มของการพัฒนาฝีมือแรงงานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ทักษะฝีมือโดยตรง การบริหารจัดการ ทักษะด้านภาษา ให้แก่แรงงานนอกระบบและแรงงานทั่วไป 9,578 คน โดยผู้รับการฝึกที่เป็นกลุ่มผู้ว่างงาน ได้ทำงาน ร้อยละ 53.57 รวมทั้งการฝึกแรงงานต่างด้าว 1,171 คน โดยแบ่งเป็น ลาว 463 คน กัมพูชา 210 คน และ เมียนมา 498 คน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
          ส่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบปัญหาเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว จำนวน 4,370 คน ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย สำหรับผลการดำเนินงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าความตกลงว่าด้วยการข้ามแดนกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จำนวนทั้งสิ้น 26,215 คน และ การควบคุมการเดินทางเข้า-ออก ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ดำเนิน โครงการระบบฐานข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ (E-FINGERPRINT) เสร็จสมบูรณ์แล้ว
 
+++++++++++++++++++
 
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ภาพและข่าว
สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ข้อมูล
7 มิถุนายน 2560
TOP