Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

ข่าวสาร รมว.แรงงาน ลงพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เร่งขจัดปัญหาการค้ามนุษย์

pll_content_description

              วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เวลา 14.00 น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) พร้อมเข้าเยี่ยมสถานประกอบกิจการและแรงงานในกิจการประมงทะเล เพื่อรับทราบข้อปัญหาและร่วมกันระหว่างรัฐและสถานประกอบการในการป้องกัน แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในกิจการประมงทะเลอย่างจริงจังตามนโยบายรัฐบาลซึ่งมุ่งเน้นคุ้มครอง ป้องกัน ดูแลสิทธิแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

             พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้หยิบยกปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2545 – 2559 ที่ให้ความสำคัญ 5 ด้าน คือ การป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนาและการบริหารข้อมูล ซึ่งนโยบายเพื่อแก้ไข ป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยได้ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการปราบปรามและดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ดังนั้น กระทรวงแรงงาน จึงได้มีนโยบายเร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยในวันนี้ กระทรวงแรงงานได้เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) และสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการแปรรูปอาหารทะเล มีลูกจ้างทั้งหมด 8,309 คน แรงงานไทย 2,403 คน เมียนมา 5,906 คน และบริษัท พีพี.แต้ม ฟู้ด โปรดักส์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการแกะกุ้งส่งขายให้กับบริษัทมารีน โกลด์ โปรดักส์ จำกัด มีลูกจ้าง 170 คน แรงงานไทย 17 คน แรงงานต่างด้าว 153 คน เพื่อตรวจสภาพการทำงานและรับฟังปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการและลูกจ้าง เพื่อนำไปเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ตรงต่อปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 
            ในส่วนของศูนย์ PIPO 22 จังหวัดชายทะเล กระทรวงแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ของทุกส่วนราชการในสังกัดร่วมปฏิบัติงานในทุกศูนย์ฯ โดยตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม – 27 ตุลาคม 2558 ได้มีการตรวจเรือก่อนออกทะเล ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมาตรการป้องกัน รวม 106,854 ลำ จำนวนแรงงานทั้งสิ้น 1,969,456 คน แยกเป็นแรงงานไทย 516,113 คน เมียนมา 974,046 คน ลาว 13,284 คน กัมพูชา 462,745 คน อื่น ๆ 3,268 คน โดยในส่วนของ จังหวัดสมุทรสาครมีการตรวจเรือ 256 ลำ ลูกจ้าง 6,244 คน แรงงานไทย 1,369 คน เมียนมา 4,537 คน ลาว 66 คน กัมพูชา 272 คน ซึ่งส่วนใหญ่ภาพรวมทั้ง 22 จังหวัด ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย มีนายจ้างกระทำผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 จำนวนเพียง 6 ราย (จากเรือ 106,854 ลำ) โดยรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตและรับทำงานโดยผิดเงื่อนไข มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง จำนวน 52 คน จากลูกจ้างต่างด้าวทั้งหมด 1,453,343 คน (จ.สมุทรสาคร มีนายจ้างกระทำผิด 4 ราย ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 35 คน) ทั้งนี้ยังไม่พบการกระทำผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานแต่อย่างใด นอกจากนั้น ปี 2558 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ได้ดำเนินการตรวจสถานประกอบกิจการในจังหวัดสมุทรสาคร ทั้งในระบบและนอกระบบไปแล้ว จำนวน 745 แห่ง ลูกจ้างจำนวน 20,153 คน พบนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้อง 41 แห่ง 

            นอกจากนี้ กสร. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจบูรณาการในกิจการประมงทะเลและที่เกี่ยวเนื่อง อันได้แก่ การตรวจบนเรือ จำนวน 53 ลำ ไม่พบว่ามีการกระทำผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แต่พบว่ามีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ในเรื่องไม่จัดทำทะเบียนลูกจ้าง ไม่มีเอกสารการจ่ายค่าจ้าง จำนวน ๑๔ แห่ง การตรวจล้ง จำนวน ๓๙ แห่ง ยังไม่พบการกระทำผิด ที่เข้าข่ายแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเช่นเดียวกัน แต่พบการกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ในเรื่องไม่จัดทำทะเบียนลูกจ้าง ๘ แห่ง, ไม่จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ๘ แห่ง, ไม่จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง 8 แห่ง และไม่ประกาศวันหยุดตามประเพณี 1 แห่ง ทั้งนี้ กสร. ได้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว อีกทั้งจะเร่งดำเนินการตรวจสภาพการจ้างและสภาพการทำงานจริงของทุกพื้นที่ ตลอดจนตรวจคุ้มครองแรงงานประมงทะเล อย่างเข้มงวดเพื่อขจัดการค้ามนุษย์ด้านแรงงานประมงทะเลให้หมดสิ้นไป
TOP