Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

เดินหน้า ‘วางโมเดล’ แก้ ‘ค้ามนุษย์’ ตรงจุด-ตอบโจทย์ ชัด – เข้ม

pll_content_description

                    รมว.แรงงาน เดินหน้า‘วางโมเดล’ แก้ปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตอบโจทย์ข้อกล่าวหาใช้แรงงานทาส-บังคับ-เด็ก แนะใช้อาสาสมัคร/เครือข่ายตรวจแรงงาน เสริมข้าราชการไม่พอปริมาณงาน แจงผลงาน 9 เดือน ใช้มาตรการตรวจแรงงานดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกจ้างไทย-ต่างด้าว 12,810 คน ที่ยื่นคำร้องได้รับเงินตามสิทธิมากกว่า 200 ล้านบาท สถิติการประสบอันตรายลูกจ้างลดลงอย่างต่อเนื่อง ดำเนินคดีอาญาผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 1,411 คดี ได้รับค่าปรับฯ ประมาณ 17 ล้านบาท ทำงานเชิงรุกมุ่งสู่ยุทธศาสตร์แรงงานสัมพันธ์เชิงสันติสุข เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี
 
                    พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานรับฟังการสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนและแผนการดำเนินงานอีก 3 เดือนถัดไป ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนภารกิจด้านแรงงานให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ากระทรวงแรงงานทำงานสำเร็จได้ด้วยการใช้ความสามารถของคน ซึ่งต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาให้ข้าราชการโดยเฉพาะในระดับปฏิบัติซึ่งเป็นหัวใจของการดำเนินงาน ได้มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะเท่าเทียมกับระดับหัวหน้า การอบรมเพื่อพัฒนาให้คนของเราสามารถปฏิบัติงานได้ถือเป็นความจำเป็นในการสร้างคน 

                   สำหรับการแก้ปัญหา IUU ที่ EU ให้ใบเหลือง ว่ายังมีเรื่องการใช้แรงงานทาส แรงงานบังคับในเรือประมงทะเล และการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงประกาศให้ประเทศไทยติดอยู่ที่เทียร์ 3 ประเทศไทยจึงจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานข้อกำหนดที่ตรงกับต่างประเทศ เพื่อแก้ไขให้ตรงโจทย์ที่กำหนด การเข้าไปดูแลปัญหาเหล่านี้อาจต้องกำหนดพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วน 5 จังหวัดแรกนำร่อง เพื่อทุ่มเททรัพยากรเข้าไปแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเต็มที่ และพร้อมพาคณะผู้ตรวจสอบจากต่างประเทศ NGOs หรือสื่อมวลชนไปตรวจสอบ เช่น จังหวัดสมุทรสาคร, ชลบุรี, สมุทรปราการ เป็นต้น เมื่อได้วางแผนกำหนดเป้าหมายแล้ว ได้ทุ่มเทการปฏิบัติงานแล้ว ต้องมีการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานด้วยว่าตรงตามมาตรฐานที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ตอบโจทย์ได้ไหม ซึ่งที่ผ่านมาหลายภาคส่วนมองว่าในการตรวจแรงงานมีปัญหาคนไม่พอ จำนวนข้าราชการมีน้อยไม่พอกับปริมาณงานตรวจดูแลแรงงาน อาจต้องใช้อาสาสมัครหรือเครือข่ายตรวจแรงงาน เพื่อให้เพียงพอและเป็นการเสริมกำลังข้าราชการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหลุดพ้นข้อกล่าวหาอย่างแท้จริง 

                  สำหรับการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ จะได้รวบรวมข้อมูลเชิงสถิติจากการตรวจศูนย์ PIPO และผลการตรวจแรงงานในสถานประกอบกิจการ หากพบว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับแล้ว น่าจะได้นำเสนอยืนยันเป็นภาพของประเทศไทยต่อไป ซึ่งจะเป็นการแก้ข้อกล่าวหาไปได้อีกประเด็นหนึ่ง แต่โจทย์ที่ยังคงเหลือคือ การใช้แรงงานทาสในเรือประมง เนื่องจากสังคมภายนอกยังมีความเชื่อว่า ‘ไต๋กง’ ต้องควบคุมเรือโดยใช้ความรุนแรง มีการทำร้ายร่างกายเพื่อให้ทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานยังต้องมุ่งมั่นและทุ่มเททำงานเพื่อแก้ไขปัญหาไปสู่มาตรฐานสากลให้ได้ต่อไป 

                  ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้สรุปผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนและแผนการดำเนินงานอีก 3 เดือนถัดไป อาทิเช่น การใช้มาตรการตรวจแรงงานเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิแรงงานทั้งระบบ ดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างคนไทยและต่างด้าวที่ยื่นคำร้อง รวม 12,810 คน ให้ได้รับเงินตามสิทธิกว่า 200 ล้านบาท เร่งสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการทำงานทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง การใช้มาตรการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัดทำให้สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งมีอัตราการประสบอันตรายรวมทุกกรณี อยู่ที่อัตรา 7.79 รายต่อ 1,000 ราย และในปี 2557 ลดมาอยู่ที่อัตรา 3.44 รายต่อ 1,000 ราย และพร้อมจะให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ. 2549) และการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สสปท. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแบ่งงานแบ่งคนหลังกฎหมายมีผลบังคับแล้ว ดำเนินการส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานแรงงานไทยเพื่อลดปัญหาการกีดกันทางการค้าประเด็นค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ผลักดันการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงการยกร่างกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง และเสนอความเห็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 36 ฉบับ ดำเนินคดีอาญาผู้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน 1,411 คดี ได้รับค่าปรับเปรียบเทียบคดีประมาณ 17 ล้านบาท ด้านแรงงานสัมพันธ์ทำงานเชิงรุก ใน 3 มิติ คือด้านการป้องกัน, การแก้ไขและการพัฒนา เพื่อไปสู่ยุทธศาสตร์แรงงานสัมพันธ์เชิงสันติสุข รวมถึงการกำกับดูแลสวัสดิการตามกฎหมายและนอกเหนือกฎหมาย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี 
TOP