Skip to main content

สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

แรงงานต่างด้าวประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ หากพบยังลักลอบจ้างทำงานจับปรับสูงสุด 100,000 บาท/คน

pll_content_description

เปิดต่อครั้งสุดท้าย แรงงานต่างด้าวประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ
ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31 มีนาคม 2560 หากพบยังลักลอบจ้างทำงานจับปรับสูงสุด 100,000 บาท/คน 

          กรมการจัดหางาน เตือนนายจ้างในกิจการประมงทะเลและกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ รีบพาแรงงานต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา ไปต่อใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จ ภายใน 31 มีนาคม 2560 และจะไม่มีการเปิด จดทะเบียนอีกต่อไป หากตรวจสอบพบกระทำผิดนายจ้างจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ขณะที่แรงงานต่างด้าวถูกจับปรับติดคุกและผลักดันกลับประเทศ ปัจจุบันมีมาต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว 12,330 ราย 

          นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้นายจ้างในกิจการประมงทะเล และแปรรูปสัตว์น้ำรีบพาแรงงานต่างด้าว กัมพูชา ลาว เมียนมา ไปต่อใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 และย้ำว่าจะไม่มีการเปิดจดทะเบียนใหม่อีกต่อไป หากนายจ้างจำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวขอให้นำเข้าอย่างถูกกฎหมายตามระบบ MOU เท่านั้น 

          นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ในกลุ่มที่ใบอนุญาตหมดอายุ วันที่ 31 มกราคม 2560 และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเปิดดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 31 มีนาคม 2560 โดยใบอนุญาตทำงานที่ต่อให้จะหมดอายุในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เท่ากันทุกคน ซึ่งขณะนี้ มีแรงงานต่างด้าวมาต่อใบอนุญาตทำงานแล้ว 12,330 คน แบ่งเป็นแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล 8,042 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 6,017 คน กัมพูชา 1,844 คน ลาว 181 คน นายจ้าง 1,310 ราย แรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ 4,288 คน เป็นสัญชาติเมียนมา 4,182 คน กัมพูชา 76 คน ลาว 30 คน นายจ้าง 276 ราย 
          สำหรับแรงงานประมงที่ไม่สามารถเข้าฝั่งได้ทันตามกำหนด ให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล ภายในกำหนดก่อนและเมื่อแรงงานต่างด้าวเดินทาง กลับเข้าฝั่ง ให้ไปตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ รายงานตัวและขออนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดแล้ว ตรวจสอบพบว่านายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกดำเนินคดี มีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ขณะที่แรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด 22 จังหวัดชายทะเล สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694
TOP